ลักษณะของเห็ดมีพิษ
แยกออกจากเห็ดไม่มีพิษได้ยากมาก ส่วนใหญ่จะใช้วิธีดูจากลักษณะภายนอก
โดยผู้ที่มีความชำนาญ บางครั้งเห็ดได้ถูกเก็บไว้นาน ถูกความร้อน ถูกทับ
ทำให้ลักษณะเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือการเจริญเติบโตในระยะต่างๆ กัน ซึ่งทำให้รูปร่างคล้ายคลึงกัน
อาจทำให้ดูผิดพลาดได้
ชาวบ้านมักมีความเชื่อกันเกี่ยวกับวิธีการดูเห็ดพิษและเห็ดกินได้หลายวิธีแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น ซึ่งก็พบว่าชาวบ้านมีความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับเห็ดดังนี้ คือ 1 .เห็ดพิษ
เมื่อนำมาต้มกับช้อนเงินจะทำให้ช้อนเงินกลายเป็นสีดำ 2.
เห็ดพิษเปลี่ยนสีกระเทียมหรือข้าวสารเป็นสีดำ 3. อาการพิษของเห็ดจะเกิดขึ้นทันทีหลังกินเห็ด 4. เห็ดที่มีสีสดเป็นเห็ดมีพิษ
ส่วนสีจาง ขาว มักกินได้ 5. เห็ดพิษทุกชนิดหากนำมาทำให้สุกก่อนจะทำลายพิษได้ 6. หากมีรอยแทะของแมลง
สุนัข หนู คนก็กินได้ 7. สามารถทำลายพิษเห็ดได้
ถ้าต้มกับน้ำส้มหรือเกลือ 8. ถ้าใส่นมหรือไข่ลงไป
แล้วตกตะกอน แสดงว่าเห็ดมีพิษ โดยสรุปแล้ว
ไม่มีวิธีทดสอบใดที่จะสามารถแยกเห็ดพิษออกจากเห็ดไม่มีพิษเด็ดขาด เช่น เห็ดไข่ห่าน
(Amanita
caecaris) ที่เป็นที่นิยมของคนทางภาคเหนือและอีสาน แต่เห็ดระโงกหิน
(Amanita phallaides) ที่มีพิษร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต
และกว่าจะแสดงอาการของการเกิดพิษก็ใช้เวลา 6-24 ชั่วโมง (เฉลี่ย 12 ชั่วโมง)
เห็ดพิษชนิดนี้พบมากทางภาคอีสาน
ทำให้มีข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการกินเห็ดแล้วทำให้เสียชีวิต
อย่างที่ทราบแล้วว่าการแยกชนิดของเห็ดนั้นแยกได้ยาก การเกิดพิษจากการกินเห็ดก็มักจะเกิดจากความเข้าใจผิด
โดยเฉพาะกับเห็ดที่อยู่ตามป่า จึงมีข้อแนะนำในการกินเห็ด ดังนี้ 1. มีความเสี่ยงมากในการจำแนกชนิดของเห็ด หากไม่มั่นใจ
การมีคู่มือการจำแนกชนิดเห็ดอาจช่วยได้ แต่ไม่ควรพึ่งคู่มือ
โดยไม่มีผู้รู้จริงไปด้วย และอย่าทดลองกิน เพราะอาจถึงแก่ชีวิตได้ 2. เวลาเก็บเห็ดต้องเก็บให้ครบทุกส่วน โดยขุดให้ลึกและหากเด็ดแต่ด้านบนแล้ว
ลักษณะเฉพาะบางอย่าง เช่น กระเปาะจะหลุดไปได้
ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ในการบ่งบอกชนิดของเห็ดพิษด้วย ตระกูล
Amanita นั้นจะไม่ติดขึ้นมาด้วย 3. เก็บแต่เห็ดที่มีรูปร่างลักษณะสมบูรณ์เท่านั้น
หลีกเลี่ยงเห็ดที่อ่อนเกินไป ลักษณะต่างๆ ที่ใช้จำแนกชนิดยังไม่เจริญพอ หลีกเลี่ยงเห็ดที่แก่และเน่าเคมีจนทำให้มีพิษอย่างอ่อนได้ 4. เวลาเก็บเห็ดให้แยกชนิดเป็นชิ้น โดยการนำกระดาษรองในตะกร้า
เพื่อป้องกันการปนเปื้อน หากเก็บเห็ดพิษปะปนมาด้วย
5. อย่าเก็บเห็ดหลังฝนตกใหม่ๆ เพราะมีเห็ดหลายชนิดที่สีบนหมวกเห็ด
อาจถูกชะล้างให้จางลง
6. เก็บเห็ดมาแล้ว ควรนำมาปรุงอาหารเลย ไม่ควรเก็บไว้นาน
เพราะเห็ดจะเน่าเสียเร็ว หรืออาจแช่ตู้เย็นไว้ได้ 7. ห้ามกินเห็ดดิบๆ โดยเด็ดขาด 8. เห็ดที่ไม่เคยกิน ควรกินเพียงเล็กน้อยในครั้งแรก
เพราะเห็ดที่ไม่มีพิษสำหรับคนอื่น อาจทำให้คนที่ไม่เคยกินมีอาการแพ้ได้ 9. ไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี สนามกอล์ฟ หรือข้างถนน
เนื่องจากเห็ดและเชื้อรามีคุณสมบัติดูดซับสารพิษต่างๆ
สะสมไว้ในตัวได้มากรวมถึงโลหะหนัก สรุป การกินเห็ดเพื่อให้เกิดประโยชน์นั้น
ควรนำเห็ดมาปรุงอาหารรวมกับผักและเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ
เพราะเห็ดมีสารอาหารใกล้เคียงกับผัก
ส่วนโปรตีนที่มีอยู่ในเห็ดเป็นโปรตีนที่ไม่สมบูรณ์
บางส่วนควรใช้เนื้อสัตว์เสริมคุณค่า ไม่ควรเก็บเห็ดไว้กินนานเกินไป
เนื่องจากจะมีการปลี่ยนแปลงของสารเคมี เพราะในเห็ดก็จะมีกรดอะมิโนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นสารที่เรียกว่า
Biogenic amine ที่จะทำให้เกิดการแพ้อาหารได้
การกินเห็ดควรคำนึงถึงความปลอดภัย นั่นคือ ควรกินเฉพาะเห็ดที่รู้จักกันโดยทั่วไป
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อสุขภาพที่ดีก็ควรกินอาหารที่มีความหลากหลาย
ทั้งในแง่ชนิดของอาหาร วิธีการปรุงอาหาร อย่าให้ซ้ำซากก็จะช่วยให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีได้อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น